f
title
สำนักงานทางหลวงที่ 5
Office Of Highways 5 (Phitsanulok)
วิสัยทัศน์ : "ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัย เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ"
กรมทางหลวง จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงปีที่ 107 พร้อมพัฒนาทางหลวงและยกระดับการให้บริการผู้ใช้ทางทั่วประเทศ
ลงวันที่ 01/04/2562

วันที่ 1 เมษายน 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวง ปีที่ 107 โดยมีอธิบดีกรมทางหลวง และคณะผู้บริหารกรมทางหลวง ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยคณะข้าราชการ พนักงาน กรมทางหลวง และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ บริเวณอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญกรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งกรมทางหลวงมีเส้นทางในความรับผิดชอบเป็นระยะทางประมาณกว่า 60,000 กิโลเมตร โดยปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน–นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา–มาบตาพุด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่–กาญจนบุรี) การก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน (ช่วงกลางดง – ปางอโศก) โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 224 – บรรจบทางหลวงหมายเลข 226) โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เป็นต้น

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปว่า ในรอบปีที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการสำคัญต่างๆแล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 (ทางเชื่อมผืนป่า) จ.ปราจีนบุรี โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 จ.ตาก โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงราย(สะพานข้ามแม่น้ำกก) จ.เชียงราย และสะพานเข้าท่าอากาศยานดอนเมือง นอกจากนี้ยังมีภารกิจอื่นๆที่ได้รับมอบหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือช่วยเหลือประชาชน เช่น การดำเนินโครงการ“กรมทางหลวง – การประปาส่วนภูมิภาครวมใจต้านภัยแล้ง” การติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่างๆ รวมถึง การยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์อีกด้วย

สำหรับแผนยุทธศาสตร์กรมทางหลวง พ.ศ. ๒๕60 – 2๕๖4 มี 4 ประการ ดังนี้
1. การพัฒนาระบบทางหลวง - การพัฒนาระบบทางหลวงที่เชื่อมต่อ (Connectivity) เข้าถึง (Accessibility) และคล่องตัว (Mobility) อย่างมีคุณภาพและตรงความต้องการ
2. ระดับการให้บริการ - การรักษาระดับการให้บริการ (Serviceability) ของระบบทางหลวง ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
3. ความปลอดภัย - การยกระดับความปลอดภัย (Safety) ของระบบทางหลวงอย่างบูรณาการ 
4. ระบบบริหารจัดการ - การพัฒนาส่งเสริมระบบบริหารจัดการองค์กร (Organization Management) อย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคม ยกระดับการให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทัดเทียมสากลสืบไป ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า “ระบบทางหลวงที่สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”


'