f
title
สำนักงานทางหลวงที่ 5
Office Of Highways 5 (Phitsanulok)
วิสัยทัศน์ : "ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัย เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ"
กรมทางหลวง จัดพิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับ เมืองปอยเปต ส่งเสริมความเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไร้รอยต่อภายในภูมิภาคสนับสนุนโครงข่ายทางหลวงภายใต้กรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและทางหลวงอาเซียน
ลงวันที่ 23/04/2562
ลงวันที่ 23/04/2562

วันที่ 22 เมษายน 2562 เวลา 07.30 น. นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลัง พิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับ เมืองปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานว่า ปัจจุบันราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ต่างมีความเจริญ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปริมาณการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในฝั่งไทยติดกับจุดผ่านแดนปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ในฝั่งกัมพูชา ส่งผลให้มีการ ขนส่ง “ประชาชน”และ “สินค้า” ข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาซื้อสิ้นค้าที่ตลาดโรงเกลือในบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้การจราจรบริเวณจุดผ่านแดนดังกล่าวมีความหนาแน่น ไม่คล่องตัว การเดินทางใช้ระยะเวลานานขึ้น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชามีความเห็นร่วมกันว่าควรเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ ภายใต้แนวคิด “แยกคนและสินค้า”ออกจากกันโดยการก่อสร้าง สะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ราชอาณาจักรไทย ตรงกับบริเวณบ้านสตึงบท อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่ง “สินค้า”ข้ามพรมแดน ส่วนบริเวณบ้านคลองลึก เน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเดินทางและการติดต่อค้าขายระหว่างกันของ ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวในพื้นที่ หน่วยงานราชการต่างๆ ของราชอาณาจักรไทยจึงร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนาทางหลวง เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ สายอำเภอ อรัญประเทศ-ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) จังหวัด สระแก้ว ขึ้น ประกอบด้วย การก่อสร้างทางเชื่อมต่อแนวใหม่ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำพรมโหด และการก่อสร้าง อาคารด่านพรมแดน ซึ่งกรมศุลกากร จะเป็นผู้รับผิดชอบ และในส่วนของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมนั้น ได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อแนวใหม่ในฝั่งไทย และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำพรมโหด หรือในปัจจุบันเรียกว่า สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา(บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท)

อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา กรมทางหลวงได้รับอนุมัติงบประมาณปี พ.ศ.2560 ให้ก่อสร้างสะพาน วงเงินประมาณ 860 ล้านบาท ความยาวสะพาน 620 เมตร (ฝั่งไทย405 เมตร ฝั่งกัมพูชา 215 เมตร) ข้ามคลองพรมโหด ที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พร้อมจุดสลับทิศทางการจราจรและถนนเชื่อมต่อในฝั่งไทย ระยะทาง4 กิโลเมตร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เริ่มต้นตั้งแต่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3366 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 4.7 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมการทหารช่าง กองทัพบก สำหรับงานก่อสร้างทางเชื่อมต่อแนวใหม่ฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2565 สำหรับงานก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง คาดว่าองค์ประกอบโครงการทั้งหมดจะสมบูรณ์เปิดให้บริการประชาชนได้ในปี พ.ศ.2565

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา(บ้านหนองเอี่ยน)เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่ง สำหรับการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางถนนกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลดีต่อความสามารถในการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อภายในภูมิภาค โครงการนี้มีแนวเส้นทางสนับสนุนโครงข่ายทางหลวงภายใต้กรอบความร่วมมือสำคัญต่างๆ ได้แก่
-ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
-ทางหลวงอาเซียน หมายเลข 1 ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญของโครงข่ายทางหลวงอาเซี่ยนภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมโยงประเทศเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม 
-ทางหลวงเอเชีย หมายเลข 1 ซึ่งเป็นทางที่ยาวที่สุดในโครงข่ายทางหลวงเอเชียภายใต้คณะกรรมการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของเอเซียและแปซิฟิคแห่งสหประชาชาติ เชื่อมโยงทางหลวงในภาคพื้นทวีปเอเซียต่อไปยังโครงข่ายทางหลวงยุโรปนอกจากนี่ยังเป็นโครงข่ายทางหลวงสำคัญสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจในกลุ่มที่ถูกจัดลำดับความสำคัญให้ได้รับการพัฒนาในระยะแรกอีกด้วย


'